พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่บริเวณ พระราชวังบวรสถานมงคลหรือ วังหน้าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ในคราวเดียวกับพระบรมมหาราชวัง พระราชวังแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชถึง 5 พระองค์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช พระราชวังแห่งนี้จึงว่างลง จึงโปรดเกล้าฯให้ มิวเซียมหลวงณ ศาลาสหทัยสมาคมหรือหอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวังมาตั้งแสดง

สมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังสถานมงคลทั้งหมดจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและประกาศตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครเมื่อปี พ.ศ.2477 การจัดแสดงแบ่งเป็นเรื่อง

  • ประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดิน (ห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” อาคารพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน) ร่วมค้นหาที่มาของประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่รุ่งเรืองของไทย  ผ่านศิลปโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมทุกสมัยที่พบในประเทศไทย ตามลำดับเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี (เขมรในประเทศไทย)  สุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์

  • ประณีตศิลป์สืบสมัย  ชมงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกที่จัดแสดงภายในหมู่พระวิมานพระราชฐานชั้นใน อันเคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหลายพระองค์ และงานประณีตศิลป์ โดยจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ เครื่องคชาธาร  เครื่องสูง  เครื่องนาฏดุริยางค์  เครื่องถ้วย เครื่องโลหะ เครื่องราชยานคานหาม เครื่องไม้แกะสลัก ผ้าและเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา  เครื่องมุก  และเครื่องอาวุธ เป็นต้น

  • ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยสืบสาน (ส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี อาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์) ศึกษารูปแบบและวิวัฒนาการของศิลปะโบราณคดีในประเทศไทย ศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ศรีวิชัย เทวรูปโบราณ ลพบุรี (เขมรในปะเทศไทย) สุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์

  • โบราณสถานวังหน้า (โบราณสถาน อาคารประวัติศาสตร์ ภายในพิพิธภัณฑสถาน) ชมสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  อาคารโบราณสถานวังหน้า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่ครั้งโบราณกาลและจิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง  พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน  พระตำหนักแดง  ศาลาสำราญมุขมาตย์ ศาลาลงสรง  พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  เก๋งนุกิจราชบริหาร อาคารสถาปัตยกรรมจีนหลังเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในวังหน้า  อาคารโรงราชรถ และหอแก้วศาลพระภูมิ

บริหารจัดการ

กรมศิลปากร

ประเภทพิพิธภัณฑ์

ชีวประวัติ, ประวัติศาสตร์ และ โบราณคดี

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

เลขที่ 4 ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ : 02-224 1402 / 02-224 1333
โทรสาร : 02-224 7493
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/museumbangkok/

วันและเวลาทำการ

วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์)
เวลา 09.00-16.00 น.

ค่าเข้าชม

  • คนไทย 30 บาท
  • ชาวต่างประเทศ 200 บาท
  • ยกเว้นค่าเข้าชม : เด็ก / นักเรียน / นักศึกษา / ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / พระสงฆ์ / สมาชิก ICOM ICOMOS (แสดงบัตร)

การเดินทาง

รถโดยประจำทางสาย 3, 6,  9, 30, 33, 43, 53, 59, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 124, 201, 503, 507, A4